คุณ Jacob Navok ประธานคนปัจจุบันของ Genvid ซึ่งเขาเคยเป็นผู้กำกับด้านธุรกิจของ Square Enix Holdings ที่ขึ้นตรงกับประธานบริษัท ออกมาแสดงความเห็นบน X ส่วนตัว ในประเด็นร้อนที่ว่า Final Fantasy 7 Rebirth และ Final Fantasy 16 ทำยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ดังที่ทาง Square Enix เคยยืนยันในรายงานผลประกอบการล่าสุด
.
โดยคุณ Navok ชี้ประเด็นว่า ความคาดหวังในด้านยอดขายก็มาจากความต้องการที่จะขายเกมเพื่อให้คืนทุนบวกกับผลตอบแทนจากการลงทุน
.
“ถ้าเกมหนึ่งต้นทุน 100 ล้าน USD ใช้เวลาพัฒนา 5 ปี แล้วคุณก็จะต้องทำให้ได้เกินกว่า การที่บริษัททำเงินได้จากการเอาเงิน 100 ล้าน USD ไปลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นให้ได้
.
สำหรับเวลา 5 ปีก่อน ก.พ. 2024 (เดือนที่ Final Fantasy 7 Rebirth วางขาย) ตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยมีอัตราการคืนทุน 14.5% การลงทุน 100 ล้าน USD ในตลาดหุ้นเป็นเวลา 5 ปี จะทำให้คุณได้เงินคืนมา 201 ล้าน USD ดังนั้น นี่คือพื้นฐาน ROI ของเราที่ต้องทำเงินคืนให้ได้ [สำหรับการวางจำหน่ายเกมที่ใช้เวลาและทุนเท่ากัน]”
คุณ Navok กล่าว
.
“ลองคิดง่ายๆ ว่า ลูกค้าจ่ายเงินซื้อเกม 70 USD แต่คุณได้กลับมาแค่ 49 USD จากการโดนหัก 30% ให้กับแพลตฟอร์ม สมมติค่าการตลาด 50 ล้าน USD เท่ากับว่า คุณได้เงินเฉลี่ยแค่ 40 USD จากส่วนลด การคืนเงิน และแง่มุมอื่นๆ ดังนั้น การบอกว่าเดือนแรกคุณขายได้ 3 ล้านชุด กับเกมที่ได้เงินสุทธิต่อชุดคือ 40 USD คุณจะต้องทำได้มากกว่า 254 ล้าน USD เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวัง (จาก 100 ล้าน USD คือต้นทุน + ส่วนต่าง 101 ล้าน USD ที่ควรได้หากเอาไปลงทุนหุ้น + ค่าการตลาด 50 ล้าน USD) ดังนั้นเกมที่ขายได้ 3 ล้านชุด ชุดละ 40 USD ก็ได้ไปแค่ 120 ล้าน USD คุณห่างจากเป้าหมายนั้นอีกไกลเลย”
เขาอธิบาย
.
ซึ่งเขากล่าวว่า ที่กล่าวมาก็ไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่เป็นแค่การอธิบายเพื่อพิสูจน์ว่า ทาง Square Enix ไม่ได้ตั้งเป้าหมายมามั่วซั่ว แต่ปัญหามาจากงบประมาณที่ตั้งไว้ในช่วงนั้น แต่ความคาดหวังของผู้เล่นก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย และนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของ Square Enix แต่เป็นปัญหาของทั้งวงการ เพราะการมาถึงของ “Fortnite” เกม Battle Royale ชื่อดังของทาง Epic Games ทำให้พฤติกรรมของผู้เล่นเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
.
“เราลองมองย้อนไปตอนที่ Hitman หรือ Deus Ex วางขาย และพิจารณาดู Call of Duty หรือ Assassin’s Creed ที่วางจำหน่ายในช่วงนั้น สมมติว่าชาวเกมมีเงิน X เพื่อซื้อเกม และมีเวลา Y ถ้าเราอยากจะขายได้ราคาเต็มๆ (อย่าลืมว่า ส่วนลดกินเงินส่วนที่เราควรได้รับ กับพวกแผ่นมือ 2 คือเงินที่เราได้ตรงจุดนี้เป็น 0 USD) เราจำเป็นต้องขายในช่วง 2 สัปดาห์แรกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
.
ในยุคนั้น ชาวเกมคนนึง พอเล่นเกมที่เพิ่งออกจบ คุณก็ไปเล่นเกมอื่นต่อ คุณก็จะมองหาเกมใหม่เมื่อคุณเล่นเกมที่ซื้อไปแล้วจบ เราอยากที่จะให้ 1 ในเกมของเรา เป็นเกมถัดไปที่คุณจะซื้อเพื่อเติมเต็มความต้องการของตัวเอง แต่โลกนี้เปลี่ยนไปแล้วในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
.
ณ จุดนี้ Square Enix ไม่ได้แข่งแค่กับเกมใหม่ที่เพิ่งวางขาย แต่ต้องแข่งกับทุกๆ เกม Free-to-Play แบบออนไลน์ที่เพิ่มเนื้อหาคอนเทนต์อย่างต่อเนื่องและยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลาด้วย
.
จากเดิมชาวเกมพอเล่นจบ ก็ย้ายไปเล่นเกมอื่นต่อ แต่เกมเล่นฟรีอย่าง Fortnite หรือ Warzone มันสดใหม่และไม่เคยเก่าไม่เคยเชย พวกเขาอัปเดตเนื้อหาคอนเทนต์และประสบการณ์การเล่นใหม่อยู่เสมอ แล้วไปต่อได้ยาวๆ นับ 10 ปี ทุกวันนี้คนยังเล่น Candy Crush อยู่เลย บริษัทอย่าง Epic ก็ลงทุนสนับสนุนเกมของพวกเขาเพื่อทำให้เกมดีขึ้น ยิ่งกลายเป็นการสร้างกำแพงที่สูงขึ้นสำหรับคู่แข่งที่ต้องฝ่าฟันไป”
เขาอธิบายต่อ
.
ซึ่งคุณ Navok กล่าวว่า Fortnite, Roblox, Warzone และเกมอื่นๆ ในแนวเดียวกันจะทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน ถ้ามองในมุมของชาวเกมยุคเก่า หากคุณเป็นคนเล่นเกมที่มีเงินเหลือพอจะใช้ๆ ทิ้งๆ แต่มีเวลาว่างเล่นเกมน้อย และคุณต้องเลือกระหว่างจ่ายเงิน 70 USD เพื่อเล่น 100 ชั่วโมงใน Final Fantasy 16 หรือจะกลับไปเล่น Fortnite กับเพื่อนแบบฟรีๆ กันล่ะ แล้วค่อยมารอดูรีวิว Final Fantasy 16 ก่อนค่อยตัดสินใจว่าจะเลิกเล่น Fortnite หรือไม่
.
ในทางกลับกัน ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเกมเล่น ตอนนี้ก็สูงขึ้นกว่าเดิมเยอะมากกว่า ในยุคที่คุณเล่น Assassin’s Creed ภาคล่าสุดจบแล้วก็ไปหาเกมอื่นมาเล่นเพื่อรอเวลา เพราะมันมีเนื้อหาคอนเทนต์รอคอยคุณอยู่ ก็ Fortnite มันไม่มีวันจบนี่นะ
.
“ตอนนี้ถ้าคุณเป็นชาวเกมวัยรุ่น คุณอาจจะไม่คิดถึง Final Fantasy แล้วก็ได้ ถ้าคุณอายุ 13 ปี คุณก็อายุแค่ 5 ขวบในตอนที่ Final Fantasy ภาคหลักล่าสุดอย่างภาค 15 ออกวางขาย ครอบครัวคุณอาจจะไม่มีเครื่อง PS5 และคุณอาจจะไม่ได้สนใจด้วย เพราะคุณพอใจกับ Fortnie หรือ Roblox หรือ Minecraft กับเพื่อนๆ บนมือถือหรือแล็ปท็อป ผมไม่ได้บอกว่า ทุกคนเป็นแบบนั้น แต่ก็เรียกว่าเป็นเทรนด์ในตอนนี้
.
พวกแฟรนไชส์เกมฟอร์มยักษ์ AAA เก่าๆ ไม่สามารถดึงดูดให้ชาวเกมยุคใหม่ที่เป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมได้แล้ว แต่เกมโซเชียลแบบเล่นฟรีบนมือถือที่พวกเขาใช้เวลาเล่นกับเพื่อนต่างหากที่ทำได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้จัดจำหน่ายเกมทุกรายถึงอยากจะทำเกม Live Service กัน เพราะฐานผู้เล่นสนใจแน่่นอน แล้วถ้าสำเร็จ ผลกำไรก็ตามมา”
คุณ Navok กล่าว
.
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ทั้งวงการกลายเป็นยุคสมัยของเกมแบบ Fortnite กันไปหมด ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดในปี 2015 ในตอนที่วางงบประมาณการพัฒนาเกมกันไปแล้ว และต้นทุนการพัฒนาเกมในตอนนี้ อย่างการสร้างชิ้นส่วนเกม การทำโมชันแคปเจอร์ ทำพื้นผิว ทำแอนิเมชัน วิศวกรรม ระบบภายในและอื่นๆ แพงขึ้นมากๆ อย่าง Spider-Man 2 ที่ต้นทุนมากถึง 380 ล้าน USD ทำให้บริษัทต้องลงทุนมากขึ้น เพราะเกมมันต้องออกมา แล้วได้คะแนน 10/10 หรือไม่งั้นชาวเกมเขาก็เล่น Fortnite (หรือเกมในแนวเดียวกัน) กันต่อไป ในขณะเดียวกัน Final Fantasy 7 Rebirth ทำคะแนนเฉลี่ย Metacritic ได้ถึง 92% แต่ก็ยังขายได้ไม่มากเท่าที่ต้องการ (แม้มันจะซับซ้อนนิดหน่อย เพราะนี่เป็นภาคต่อด้วย)
.
ซึ่งก็มี 3 วิธีที่จะทำได้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับที่ลงทุนลงแรงไป คือ การลดต้นทุน เพิ่มราคา หรือเพิ่มฐานผู้เล่น [ด้วยการนำไปลงแพลตฟอร์มอื่น] และเกมที่ไม่ใช่แนว Live Service ย่อมมีปัญหาเรื่องการเพิ่มฐานผู้เล่น ด้วยต้นทุนเอย เงินเฟ้อเอย เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น แล้วผู้บริโภคก็อยากได้เกมที่ดีมากพอที่จะยอมจ่ายเงิน ไม่งั้นก็เล่นเกมแบบเล่นฟรีดีกว่า
.
“ก็จริงที่เกมเล็กๆ หรือเกมที่ไม่ได้มีกราฟิกสวยอะไรมาก ก็มีฐานผู้เล่นและทำกำไรได้ ยกเว้น Balatro อันนี้ยกเว้น เพราะเกมทำคนเดียว แต่เกมฟอร์มยักษ์ใช้ทีมงานเป็นร้อยเป็นพันเพื่อสร้างขึ้นมา เกมที่สร้างด้วยทีมงานคนเดียวที่ทำรายได้ 2 – 3 ล้าน USD อาจจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นได้เลย แต่เกมที่ใช้ทีมงานร้อยคนเอาเงินจำนวนนี้มาแบ่งๆ กันก็ได้ไม่พอยาไส้”
คุณ Navok กล่าว
.
“ดังนั้นมันก็เหลือแค่เรื่องราคา ด้วยการที่ราคาเกมไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ลองดูเกมอย่าง Star Wars ภาคล่าสุดของ Ubisoft ก็ได้ [ที่ขายราคา 110 – 130 USD] ก็ไม่ใช่เพราะว่าบริษัทเกมหน้าเลือดจะมาขูดรีดคนเล่นเกม แต่เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ที่จะทำให้เกมที่ไม่ใช่แนว Live Service เล่นฟรี มันไปต่อได้ในโลกของเกมฟอร์มยักษ์ AAA ที่ต้นทุนและการแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน
.
ถ้า Square Enix ไม่ลดเงินเดือนทีมพัฒนาเกม (แต่มันต้องเพิ่มด้วย) และทำเกมออกมาให้ได้รีวิวดีๆ แต่เพิ่มฐานคนเล่นไม่ได้ พวกเขาและผู้จัดจำหน่ายที่เหลือทั้งหมดก็จะต้องเพิ่มราคาเกมอย่างช่วยไม่ได้ ไม่งั้นเกมแบบ Live Service ก็กลายเป็นทางเลือกเดียวที่เราเหลืออยู่”
เขากล่าว
ไม่มีอะไรยอดเยี่ยมเท่าการได้เล่นเกมดีในราคาไม่แพง