[News] บก. Kodansha ลั่น! การกดดันให้มังงะต้องปรับเนื้อหาเพื่อเอาใจคนอ่านฝั่งตะวันตกเป็น “แนวคิดที่น่าสมเพช”

คุณ Akira Kanai บรรณาธิการคนปัจจุบันของนิตยสาร Weekly Afternoon ของสำนักพิมพ์ Kodansha ออกมาแสดงความเห็นว่าฐานผู้อ่านในฝั่งตะวันตก “จะไม่มีผลใดๆ” ในการตัดสินใจหรือการสร้างสรรค์ผลงานมังงะของพวกเขา
.
โดยคุณ Kanai เข้าร่วมงานกับ Kodansha มาตั้งแต่ปี 1994 และเป็นผู้ดูแลให้กับมังงะฮิตมาแล้วมากมาย อาทิ Ajin: Demi-Human ของ อ. Gamon Sakurai, Fragile ของ อ. Bin Kusamizu และ อ. Saburō Megumi รวมไปถึง Vinland Saga ของ อ. Makoto Yukimura
.
คุณ Kanai ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องฝั่งตะวันตกที่พยายาม “กดดัน” เพื่อตีกรอบในเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ ที่แสดงออกในมังงะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบทสัมภาษณ์กับ Manga Passion ซึ่งเป็นสื่อข่าวฝั่งเยอรมนี
.
โดยทาง Manga Passion ถามคุณ Kanai ว่า เขาเคยได้คิดบ้างหรือไม่ เกี่ยวกับความสำเร็จในระดับนานาชาติของมังงะ และเขาได้ทดลองทำงานร่วมกับนักวาดการ์ตูนเพื่อพยายามที่จะปรับเปลี่ยนให้ผลงานของพวกเขา ให้เหมาะสมกับฐานผู้อ่านนอกญี่ปุ่นด้วยหรือไม่ แต่คุณ Kanai ยืนกรานว่า “ไม่เลย”
.
“ยกตัวอย่างนะ เราก็มีข้อจำกัดเรื่องความรุนแรง เรื่องโป๊เปลือย ไม่ว่าจะเป็นตัวละครชายหรือหญิง หรือเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่ผมคิดว่าประชากรในประเทศอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในแง่ของการรับรู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ จะเป็นญี่ปุ่น เยอรมนี จีน หรือเกาหลีใต้ แม้แต่ในเรื่องของการเมือง”
คุณ Kanai กล่าว
.
“ผมจะไม่ยอมให้ตัวเองเอนเอียงไปตามสิ่งที่เขาเรียกกันว่า ‘ความถูกต้องทางการเมือง [Political Correctness]’ ของต่างชาติ และสร้างผลงานให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ ผมคิดว่า ถ้ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันก็จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ไม่ว่าคุณจะมาจากแอฟริกา ชิลี หรือกรีนแลนด์
.
ผมไม่เคยคิดว่านี่จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่แม้ว่าผลงานจะเป็นธีมญี่ปุ่น หรือจะเป็นงานของฝั่งเยอรมันที่มีธีมเยอรมัน ผลงานจีนที่มีธีมจีน สุดท้ายแล้ว มันก็มีรากเหง้าเหมือนกัน ผมคิดแบบนั้น
.
ดังนั้น การหยุดสร้างผลงานเพราะมันมีปัญหาว่า มันดูเป็นญี่ปุ่นเกินไป หรือเพราะทำอะไรบางอย่าง [ในแง่เนื้อหาคอนเทนต์] มันก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น ถ้าพูดให้เจาะจงมากขึ้น ผมสงสัยว่า มันมีความแตกต่างกันตรงไหน ระหว่างผลงานสื่อบันเทิงญี่ปุ่นด้วยกันเอง ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ มันเป็นผลงานที่เน้นตลาดญี่ปุ่นหรือตลาดระดับโลกกันล่ะ?”
เขากล่าวต่อ
.
“คือผมไม่คิดว่าเป็นไปได้ที่จะสามารถสร้างผลงานมังงะที่อยู่ตรงกลางจริงๆ หรือเป็นผลงานที่ทุกๆ คนบนโลกชอบ ลองดู Skip and Loafer [ลิขสิทธิ์ไทยโดย Dexpress ในชื่อไทยว่า ‘จังหวะวัยรุ่นว้าวุ่นหัวใจ’] เป็นตัวอย่าง [ซึ่งเป็นมังงะซีรีส์ที่ตีพิมพ์ใน Weekly Afternoon] ที่เล่าเรื่องราวของเด็กสาวญี่ปุ่นจากบ้านนอกที่เดินทางเข้ามาในเมืองกรุงโตเกียวเพื่อเรียนในโรงเรียนมัธยมดีๆ ผมคิดว่าคนอ่านทั่วโลกเข้าใจความรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องจากบ้านมาไกลของเธอในแบบเดียวกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมังงะเรื่องนี้ถึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านทั่วโลก
.
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่เคยคิดว่า ผลงานมังงะจะต้องมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับฐานผู้อ่านนอกญี่ปุ่น แม้ผมจะไม่มั่นใจว่า คนอ่านที่อยู่ในประเทศที่ไม่มีชนบทหรือไม่มีเมืองใหญ่ๆ จะรู้สึกยังไง ผมก็ไม่รู้หรอกว่า อย่างดูไบ ประเทศเขาเป็นยังไง บางทีผมก็อาจจะคิดเข้าข้างตัวเองก็ได้”
คุณ Kanai กล่าวพร้อมหัวเราะ
.
ซึ่งทาง Manga Passion ถามในช่วงท้ายว่า สำหรับคุณ Kanai แล้ว เขาคิดว่า “การเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้ากับฐานผู้อ่านในระดับโลกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสื่อประเภทมังงะหรือไม่” คุณ Kanai กล่าวว่า แม้ว่าเขาจะพบว่า มันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในแง่การสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้คนมากขึ้น สร้างผลงานของตัวเองภายในสื่อประเภทนี้ได้ แต่เขาไม่เชื่อว่ามันจะต้องยอมเสียสละด้วยการ “ทิ้งอัตลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นไป”
.
“คือแนวคิดที่ว่า สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นจะแย่ลงเรื่อยๆ ถ้าพวกเขาไม่ขยายและปรับตัวตามตลาดต่างประเทศมันน่าสมเพชนะ และควรจะเลิกคิดแบบนั้นได้แล้ว ตอนนี้มันเป็นไปได้แล้ว ที่จะอ่านและเขียนมังงะที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ ผมหวังว่า ชุมชนแฟนมังงะก็จะเติบโตต่อไป ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากไหน ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาอะไร ดังนั้น เมื่อถามว่า ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนเพื่อเอาใจต่างชาติสำคัญขนาดไหน ผมก็บอกได้เลยว่า วิธีที่เราทำอยู่ สนุกกว่าเยอะ”
คุณ Kanai กล่าวสรุป

Sheapgamer Comments

แสดงความคิดเห็น