การนำ Asset หรือ ชิ้นส่วนที่เคยมีในการพัฒนาเกมก่อนหน้า เช่น แอนิเมชัน โมเดลตัวละคร หรือพื้นผิว จากเกมหนึ่งมาใช้อีกเกมหนึ่ง เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ เกม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่าง เกมในซีรีส์ The Legend of Zelda อย่างภาค Majora’s Mask ที่มีการนำทรัพยากรจำนวนมากจากภาค Ocarina of Time มาปรับปรุงใช้งาน หรือภาค Tears of the Kingdom ที่นำชิ้นส่วนหลายอย่างจาก Breath of the Wild มาใช้
ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้เล่นว่า การนำชิ้นส่วนเหล่านี้กลับมาใช้ในเกมใหม่ หรือ “รียูส” เป็นเรื่องที่สมควรแค่ไหน หรือควรทำในระดับใด เพราะยิ่งรียูสมาก ก็แปลว่าเวลาในการพัฒนาเกมก็จะลดลง และสามารถเอาเวลาไปขัดเกลาด้านอื่นได้ แต่หลายคนมองว่า มันคือการ “มักง่าย” ในการพัฒนาเกม แม้แต่ Elden Ring ภาคหลักเองก็เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้เช่นกัน
ล่าสุดคุณ Junya Ishizaki ผู้กำกับ Elden Ring Nightreign เกม Co-op 3 คน กึ่ง Rogue-like ภาคสปินออฟของ Elden Ring ให้สัมภาษณ์กับ GamesRadar+ เกี่ยวกับการนำชิ้นส่วนต่างๆ จากเกมก่อนหน้ากลับมาใช้ในภาคใหม่ว่า แนวคิดหลักของ Elden Ring Nightreign คือ “ปรับเปลี่ยนลูปของการเล่นและออกแบบเกมใหม่ทั้งหมด” มากกว่า
“การใช้ Elden Ring เป็นพื้นฐานสำหรับโลกและองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ ทำให้เราสามารถเบนพลังจากส่วนนั้น มาโฟกัสกับการพัฒนาไอเดียในการเล่นเกมและโครงสร้างใหม่ทั้งหมดได้มากขึ้น”
คุณ Ishizaki กล่าว
โดยสรุปแล้ว Nightreign คือเกมที่อยู่ในโลกเดียวกับ Elden Ring ภาคแรกแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่พวกเขามุ่งเน้น คือการปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับการเล่น มากกว่าการสร้างแผนที่ขึ้นมาใหม่โดยไม่มีเหตุผลรองรับ
“แน่นอนว่าคำว่า ‘การนำ Asset กลับมาใช้ใหม่’ ในบริบทของการพัฒนาเกม อาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและก่อให้เกิดความกังวลได้บ้าง แต่เรามองว่า มันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเกม
และไม่ใช่ว่าเราเอาของเก่ามาก๊อปวางแบบดื้อๆ นะ ในความเป็นจริง มันต้องมีการดำเนินการที่ซับซ้อนกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของ Nightreign เนี่ย ผมเชื่อว่าผู้เล่นจะได้เห็นชิ้นส่วนที่คุ้นเคย แต่จะนำเสนอในรูปแบบที่ส่งเสริมการเล่นเกม และได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับกลไกของ Nightreign ในลักษณะที่อาจไม่อาจสังเกตได้ง่ายๆ ในครั้งแรก”
เขากล่าวเสริม
ทาง GameRadar+ ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันที่การพัฒนาเกมขนาดใหญ่ต้องเผชิญกับความไม่ยั่งยืนทางการเงิน การนำชิ้นส่วนของเกมก่อนหน้ากลับมาใช้อย่าง “เหมาะสม” จึงดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใด เช่น เกมจากซีรีส์ Yakuza หรือ Like a Dragon ที่ใช้แนวทางนี้ และอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยลดระยะเวลาที่แฟนๆ ต้องรอเกมภาคต่ออีกด้วย