[Article] มาทำความรู้จัก Development Hell หลุมลึกไร้ก้นในการพัฒนา สาเหตุแห่งความล้มเหลวของเกมทุกระดับ

development hell

ในช่วงหลายเดือนมานี้ เวลาเราจะได้เห็นข่าวเกมที่ใช้เวลาพัฒนานานๆ ออกมาแล้ว ล้มเหลวครั้งใหญ่ หรือแม้แต่เกมที่ยังไม่ออกวางจำหน่าย แต่เลื่อนวางจำหน่ายไปเรื่อยๆ จนไม่มีทีท่าว่าจะออกมาสักที จะมีคำหนึ่งที่พูดถึงกัน นั่นคือ Development Hell 
.
Development Hell เป็นคำที่เอาไว้ใช้ในการนิยามกระบวนการพัฒนาเกมหรือซอฟแวร์ใดๆก็ตามไม่ใช่แค่เกม ที่เกิดความล่าช้าและรุงรังอย่างมหาศาล จนไม่สามารถเสร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด  หรือในทางกลับกันแม้จะเสร็จสมบูรณ์ในกรอบเวลา ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเสร็จ เพราะผลสุดท้ายที่ได้ ไม่ตรงกับที่ให้สัญญา หรือคาดหวังไว้ แม้ใช้เวลาในการพัฒนามาเนิ่นนานก็ตาม
.
ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลากหลายเกมและซอร์ฟแวร์ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นจากค่ายใหญ่ๆ อย่างเดียว เกมจากค่ายอินดี้เล็กๆ ก็สามารถเกิด Development Hell ได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุอาจแตกต่างกันไป แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่เหมือนกันคือเกมไม่สามารถวางจำหน่ายได้ หรือมีคุณภาพที่ต่ำกว่าที่ผู้เล่นคาดหวังจากที่ผู้พัฒนาเคยให้สัญญาเอาไว้

.
สาเหตุที่ทำให้เกิด Development Hell?

.

1. การออกแบบที่ซับซ้อนและคำสัญญาที่เกินตัว
การออกแบบเกมที่ซับซ้อนเกินไปตั้งแต่เริ่มต้นหรือการออกมาให้สัญญากับผู้เล่นว่าจะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ก่อนที่จะมีการลงมือพัฒนาจริง หลายครั้งที่ผู้พัฒนาหรือผู้บริหารมีความทะเยอทะยานในการสร้างสรรค์เกมที่ยิ่งใหญ่ มีระบบการเล่นที่ซับซ้อนหรือฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้หลายครั้งๆ เทคโนโลยีทีต้องใช้เพื่อรองรับฟีเจอร์หรือแนวคิดนั้น อาจจะยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมา แต่กลับมีการเปิดตัวและทำการตลาดอย่างยิ่งใหญ่ หลายๆครั้งเพียงแค่จากการที่ผู้บริหารเพียงแค่เห็นภาพคอนเซปต์อาร์ตก็ประกาศเริ่มโปรเจ็กต์ทันที โดยไม่ได้ถามสุขภาพทีมพัฒนาก่อนสักคำว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ทำให้เมื่อลงมือพัฒนาจริงๆก็ติดขัดไปเสียหมด ลามไปจนถึงขั้นต้องออกแบบเกมใหม่ตั้งแต่แรก
.
2.การจัดการบริหารและสื่อสารที่ย่ำแย่
.
ปัญหาจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มักทำให้เกมตกอยู่ใน Development Hell อย่างการกำหนดเดดไลน์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ต้องใช้ เช่น งานที่ต้องใช้เวลาทำ 6 เดือนจากการประเมินของนักพัฒนา แต่ ฝ่ายผู้จัดการโปรเจ็กต์กลับไปแจ้งกับผู้บริหารว่า ใช้เวลาเพียง 4 เดือน ส่วน ผู้บริหารก็อยากจะทำให้ผู้ถือหุ้นสบายใจก็ประกาศออกไปว่าใช้เพียง 3 เดือนเท่านั้น จนเมื่อเวลากระชั้นก็ทำให้เกิดการโหมปั่นงานล่วงเวลา (หรือที่เรียกว่าการ Crunch) หรือต้องมีการเลื่อนเวลาออกไป การตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การพัฒนาต้องหยุดชะงัก
.
3.เทคโนโลยีที่มียังไม่สามารถสร้างเกมที่ต้องการได้

หลายครั้งเทคโนโลยีใหม่ที่ทีมพัฒนาตั้งใจจะใช้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาหรือยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้การใช้งานเทคโนโลยีนั้นๆ ต้องรอการพัฒนาเพิ่มเติม ก็ทำให้เกิดความล่าช้า เช่น การใช้กราฟิกเอนจินที่ล้ำสมัย ระบบ AI ที่ซับซ้อน หรือฟีเจอร์อื่นๆ ที่อิงกับเทคโนโลยีขั้นสูง หากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่พร้อมใช้งานในช่งเวลาดังกล่าวก็อาจทำให้การพัฒนาจำต้องหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไป จนกว่าจะสมบูรณ์และใช้งานได้
.
4. ความขัดแย้งภายใน การบริหารทรัพยากรที่ยากสุดคือการบริหารคน
.
ภายในทีมพัฒนาบางครั้งอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือแผนกที่รับผิดชอบ ผู้กำกับหรือผู้ออกแบบเกมอาจมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน ฝ่ายศิลป์กับฝ่ายพัฒนามีความเห็นที่ขัดแย้งถึงความเป็นไปได้ที่จะทำออกมา หรือแม้กระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว บางครั้งโปรเจ็กต์ที่ทำมาหลายเดือนก็อาจจะล่มได้ง่ายๆ เพียงเพราะหัวหน้าของ 2 ทีมที่ต้องทำงานร่วมกัน เกิดปัญหาส่วนตัวจนไม่สามารถร่วมงานกันต่อไปได้ การหมดไฟของทีมจากสภาวะแวดล้อมการทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้การพัฒนาต้องหยุดชะงักเพื่อหาข้อตกลงใหม่ หรือแม้แต่เปลี่ยนทีมงานหลักไปเลยก็มี ส่งผลให้เกิดความล่าช้าอย่างมาก  ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การสูญเสียบุคลากรสำคัญในทีม หรือที่เรียกว่าพวกเดอะแบก เป็นต้น
.
5. เงินไม่พอหรือผลาญงบประมาณ ไปต่อหรือพอแค่นี้
การขาดแคลนทรัพยากรเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ทำให้เกมต้องติดอยู่ใน Development Hell เกมที่มีการพัฒนาอย่างยาวนานมักมีการใช้เงินและทรัพยากรที่เกินคาดหมาย งบประมาณที่ค่ายพัฒนาตั้งไว้ตั้งแต่ต้นอาจไม่เพียงพอต่อการทำให้เกมเสร็จสมบูรณ์ จนไม่อาจทำงานต่อไปได้ในระดับที่หวังไว้ หรือในทางกลับกัน การจ้างคนมามากเกินไป การใช้เงินจนเกินงบประมาณและถลุงเงินไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ผู้บริหารมองว่า เสียทรัพยากรและเวลาไปมากเกินกว่าที่จะยกเลิกหรือกลับลำได้แล้ว ตลอดไปจนถึงการจ้างบุคคลากรที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือความสามารถ ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้ทีมพัฒนาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ หรือในบางกรณีบริษัทอาจต้องยกเลิกโครงการนั้นไปเลย
.
เกิดอะไรขึ้นกับเกมที่อยู่ภายใต้ Development Hell ?

เกมที่ต้องติดอยู่ในสภาวะนี้นานๆ นอกจากจะทำให้เสียเวลาและทรัพยากรแล้วยังส่งผลต่อความคาดหวังของผู้เล่นโดยทั่วไป เมื่อเกมประกาศเปิดตัวใหม่หรือถูกเลื่อนการเปิดตัว สิ่งแรกที่เกิดคือความผิดหวังที่จะได้เล่นเกมตามเวลาที่ควรเป็น ต่อมาคือผู้เล่นจะตั้งความหวังสูงขึ้นเพราะต้องยืดเวลาออกไป หากเกมไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังได้ ก็อาจถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงจนส่งผลต่อยอดขายและทำให้บริษัทอาจจะเกือบเจ๊งได้เลย อีกหนึ่งผลกระทบคือความล้าสมัยของเกมเอง แม้ว่าจะพัฒนามายาวนาน แต่หากการพัฒนาเกิดล่าช้าเกินไป จนเทคโนโลยีที่ใช้ไปในเกมตอนแรก เช่น กราฟิก เสียง หรือระบบการเล่น อาจล้าหลังเกมอื่นๆ ที่พัฒนาในเวลาเดียวกันจนเสร็จไปแล้ว พอเกมออกมาก็ไม่สามารถจับตลาดและผู้เล่นได้
.

ตัวอย่างเกมที่อยุ่ใต้ Development hell

Duke Nukem Forever 

เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของเกมที่ติดอยู่ใน Development Hell มาอย่างยาวนาน เริ่มพัฒนาในปี 1997 แต่ใช้เวลาพัฒนาถึง 15 ปี มีการเปลี่ยนแปลงเอนจิ้นหลายครั้ง การปรับเปลี่ยนแนวคิดบ่อยครั้ง และปัญหาภายในทีม สุดท้ายเกมเปิดตัวในปี 2011 แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่า เกิดอะไรขึ้นหลังเกมออก สมชื่อ Forever ของแทร่ 

Final Fantasy XV 

ตัวเกมเริ่มพัฒนาในปี 2006 ในชื่อ Final Fantasy Versus XIII และเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Fabula Nova Crystallis เกมนี้เปลี่ยนผู้กำกับหลายครั้ง รวมถึงการเปลี่ยนคอนเซ็ปต์หลักและแพลตฟอร์มที่เกมจะเปิดตัว สุดท้ายใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนา และเปิดตัวในปี 2016 ในชื่อ Final Fantasy XV แม้ว่าจะวางจำหน่ายได้จริง และมีเสียงชื่นชมในแง่ของกราฟิกที่สวยงาม รวมถึงเนื้อหาช่วงต้นเกมที่เป็น Open World ที่ดีงามมากๆ แต่เกมก็โดนวิจารณ์กันขรมในด้านเนื่อเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ ที่มีการประกาศทำ DLC แต่หลังจากนั้นก็โดนยกเลิกทั้งหมดในเวลาต่อมาเหลือไว้เพียงแค่ Episode Ardyn เท่านั้น 

StarCraft: Ghost

การประกาศเปิดตัวครั้งแรกในปี 2002 เกมนี้ตั้งใจจะเป็นเกมแอ็คชันเชิงกลยุทธ์ที่เล่นในมุมมองบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นคนละแนวกับ StarCraft ซึ่งเป็นแนววางแผนเรียลไทม์อย่างสิ้นเชิง ตัวเกมพัฒนาโดย Nihilistic Software ต่อมาได้รับการเลื่อนออกไปอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือน จน Nihilistic กล่าวว่าพวกเขาจะยุติการทำงานในโครงการนี้ เด้งต่อไปที่  Swingin’ Ape Studios จนสุดท้าย Blizzard ได้ประกาศเลื่อนเกมออกไปอย่างไม่มีกำหนด และยืนยันว่าตัวเกมโดนยกเลิกการพัฒนาไปแล้ว ในปี 2014 


Cyberpunk 2077

เกมจาก CD Projekt RED ที่ถูกคาดหวังเอาไว้สูงมาก เลื่อนมาก็หลายครั้ง มีการ Crunch ทีมงานเพื่อให้เกมเสร็จทันเวลา  แต่เมื่อเปิดตัวออกมาวันแรกก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องประสิทธิภาพเกมที่ย่ำแย่ บั๊กในเกมมหาศาลจนเรียกได้ว่าเล่นแทบไม่ได้บนเครื่องคอนโซลยุคที่แล้ว ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ เนื้อหาคอนเทนต์ที่เคยสัญญาไว้ว่าจะมีก็ไม่มี จนต้องมีการปรับปรุงและออกอัปเดตแก้ไขหลายครั้ง จนเกมกลับมาเล่นได้ดีขึ้น ในภายหลัง แต่ก็ใช้เวลาเป็นปีๆ และเรียกได้ว่าเป็นเกมที่สร้างจุดด่างพร้อยให้ CD Projekt RED เลยก็ว่าได้

.

Skull & Bone 

เกมระดับ AAAA (ตามที่ผู้บริหารอ้าง) ที่ใช้เวลาในการพัฒนาอย่างยาวนาน เปลี่ยนทีมงานพัฒนาไปหลายคน และงบประมาณที่คำล่ำลือว่าใช้ไปมากกว่า 800 ล้านเหรียญ ตลอดระยะเวลา 10 ปี แต่สุดท้ายก็สามารถเข็นออกมาวางจำหน่ายได้สักทีเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แต่ก็ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งระบบเกมที่ล้าสมัยและที่ไม่เป็นไปตามคาดไว้ บั้คจำนวนมาก ทำให้เกมล่มจมทะเลไปเลย

 Beyond Good and Evil 2

หลายคนอาจจะลืมเกมนี้ไปแล้ว เพราะมันยังไม่ออกซักที นับตั้งแต่ประกาศสร้างในปี 2008 และเราได้เห็นวีดีโอตัวอย่างเกมนี้ประกาศมาในงาน E3 2017 หลังจากนั้นก็เงียบฉี่และไม่มีประกาศอะไรออกมาอีกเลย หรือแม้แต่การแจ้งว่ายกเลิกพัฒนาแล้วก็ไม่มีข่าวออกมา ทำให้เราได้แต่คาดเดาว่าเกมนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนพัฒนาต่อไป

Sheapgamer Comments

แสดงความคิดเห็น